ปรัญชากศน.เสนา "จัดการความรู้ ควบคู่คุณธรรม น้อมนำเศษฐกิจพอเพียง" วิสัยทัศน์ "กศน.เสนามุ่งมั่นจัดการศึกษาตลอดชีวิต ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

ทางสงบ


ทางสงบ

โดย... พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์

อธิการบดีกรมศาสนา

พระดำรัสที่วัดสามกอ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2506 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้เสด็จไปพระราชดำเนินไปยังวัดสามกอ อำเภอเสนา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดไม่สู้จะมีใครรู้จัก อยู่ในคลองเล็กและห่างไกลจากพระนครมาก ฉะนั้น ทั้งก่อนเสด็จและหลังเสด็จ ผมจึงถูกถามแล้ว แล้วเล่าวัดสามกอ สำคัญอย่างไร และเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างได ซึ่งในตอนก่อนนั้นผมก็ยังไม่เคยไปเหมือนกัน เพิ่งจะได้ไปตามเสด็จครั้งนี้เอง เมื่อได้ไปเห็นด้วยตนเองแล้วก็นึกอยู่เหมือนกันว่า วัดสามกอนี้อยู่ไกลไปยากมายากไม่มีอะไรพอที่จะดูเจริญหูเจริญตาหรือแปลกประหลาดอะไรนัก จนกระทั่งเมื่อวันอังคารที่แล้วท่านสมภารวัดสามกอเข้ามาที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในพระนครได้ขอให้ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านอยู่เป็นเวลานานนั้นได้ตรัสถามเรื่องใดบ้าง ท่านสมภารก็เล่าให้ฟังโดยละเอียด ผมได้บันทึกเสียงเอาไว้ เมื่อเอาพระดำรัสที่ตรัสกับท่านสมภารมารวมกับสิ่งที่ได้เห็น คือความลำบากพระวรกายในการเสด็จ จึงทำให้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อศาสนิกชนอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ พระดำรัสนั้นอยากที่ใครๆจะได้ยินและได้ฟังเพราะเป็นพระราชดำรัสเฉพาะกับบุคคลเชิงสนทนาผมคิดว่าถ้ายกขึ้นมาเล่าสู่กันฟังบ้าง ก็น่าจะเป็นสิริมงคลในทางจิตใจของเราๆท่านๆอยู่มาก อย่างน้อยก็ทำให้ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ ที่จะได้ถวายพระพรชัยมงคลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาซึ่งจะถึงในกี่วันข้างหน้านี้ด้วย

ท่านสมภารวัดสามกอเล่าว่า เรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามท่าน คือชื่อวัดสามกอ ว่าเหตุใดจึงตั้งชื่อ วัดสามกอ ท่านถวายพระพรตอบว่า วัดสามกอเป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อว่า ฉ้อกามา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นต่อมาแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิมต้องย้ายวัดถึงสามครั้งนั้นเป็นสัญลักษณ์ก็เลยเรียกกันว่า “สามก่อ” ครั้นต่อมาภาษาได้กร่อนไป คงเรียกว่า “สามกอ”

เรื่องที่สองที่มีพระราชดำรัสถามคือจำนวนคนมารับศีลฟังเทศน์ และผู้รักษาศีลอุโบสถในวันพระทานสมภารเล่าว่า ทรงถามถึงจำนวนคน เมื่อถวายพระพรตอบให้ทรงทราบว่ามีประมาณ 100-200 คน แล้วก็ทรงซักถามต่อไปว่า คนที่ว่านี้เมื่อแบ่งเป็นสามปูน คือ คนแก่ คนหนุ่มสาว และเด็ก มีพวกไหนสักเท่าไร ครั้นเมื่อถวายพระพรให้ทรงทราบแล้ว ก็ได้มีพระราชดำรัสกับท่านสมภารว่า ขออาราธนาให้ท่านพยายามเทศนาสั่งสอนให้ทุกคนเข้าใจพระธรรมของศาสนายิ่งขึ้นด้วย ต่อจากนั้นก็ตรัสถามถึงว่า ทางโรงเรียนได้อาราธนาพระสงฆ์อบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียนหรือเปล่า ท่านก็ถวายพระพรว่า ทางวัดกับทางโรงเรียนก็ได้ร่วมมือกันใกล้ชิดอยู่แล้วในการอบรมศีลธรรมท่านสมภารเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในเรื่องเด็กมาก นอกจากจะทรงซักถามเกี่ยวกับเด็กในโรงเรียนแล้วก็ทรงเน้นกับท่านสมภารถึงศีลธรรมจรรยาของเยาวชน และทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้พระสงฆ์เอาใจใส่ในการอบรมเด็กให้เป็นคนดีมีศาสนาให้มากๆ

ในที่สุดก็ทรงถามถึงประวัติของท่านสมภารว่า มีชาติภูมิอยู่ที่ไหนและเคยศึกษาเล่าเรียนว่าอย่างไร ท่านสมภารซึ่งอยู่ในวัยหนุ่ม และยังเป็นพระผู้น้อย ได้ถวายพระพรให้ทรงทราบว่า ท่านเองเป็นชาวอยุธยา เคยเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศราชวรวิหาร เมื่อทรงทราบแล้วก็ได้ทรงอาราธนาให้ท่านสมภารบำเพ็ญกิจพระศาสนาต่อไป

วันนั้นเมื่อได้ทรงนมัสการพระพุทธชินราชจำลอง ถวายผ้าแก่พระสงฆ์และก็เสด็จเข้าไปนมัสการพระในวิหารและในโบสถ์แล้วก็เสด็จทักทายศาสนิกชนเข้ามารอเฝ้าอยู่ในบริเวณวัด เป็นเวลานานพอสมควรแล้วจึงเสด็จลงเรือยนต์พระที่นั่งซึ่งเป็นเรือเล็ก ออกไปยังปากคลอง แล้วจึงเสด็จโดยเรือยนต์พระที่นั่งใหญ่ต่อไป

ตามที่ผมเล่ามานี้ คงจะทราบแล้วว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จวัดสามกอนั้น เป็นทางเสด็จที่ค่อนข้างจะลำบากอยู่ แต่ที่ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปก็ด้วยเหตุสองประการ คือ ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ใคร่จะได้ทรงพบปะเยี่ยมเยียนพุทธศาสนิกชนผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้เป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจพระพุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์



คัดมาจากหนังสือ พุทธศาสตร์ ฉบับก้าวหน้า

ปีที่ 6 ฉบับที่ 12 ประจำเดือน ธันวาคม 2506